top of page

“เลี้ยงลูก 3 ภาษา (ขึ้นไป) อย่างไรดี” | บทความโดย เหลาสวิสต์ by ครูเบิร์ด

หลายวันก่อนครูได้ไปตอบคำถามแนวนี้ในเพจบนเฟซบุ๊ก ถามไถ่บ้านสวิตเซอร์แลนด์เห็นว่ามีประโยชน์จึงอยากแชร์ให้ลูกเพจได้อ่านกัน โดยอิงจากประสบการณ์ตัวเองนี่แหละครับเพราะเห็นผลลัพธ์ดีที่สุด



เข้าเรื่องเลยละกัน

ข้อปฏิบัติ


1. ยึดหลักว่าภาษาแม่เป็นของใคร ให้คนนั้นพูดภาษานั้นกับลูก

กรณีของครู

- ภาษาไทย พูดกับแม่

- ภาษาสวิส-เยอรมันจะพูดกับป๋า

ซึ่งเป็นกฏเวลาอยู่ที่บ้าน โดยเฉพาะเวลาทานข้าวครอบครัวอยู่พร้อมหน้าพร้อมตากัน ครูจะกลายเป็นเด็ก 2 ภาษาไปโดยบัดดลถ้าแม่คุยด้วยต้องพูดภาษาไทย ถ้าป๋าถามต้องหันไปคุยสวิส-เยอรมัน เป็นแบบนี้มาโดยตลอด

2. ภาษาที่ 3, 4, 5....... (ที่พ่อและแม่ไม่ใช่เจ้าของภาษา) ให้เป็นหน้าที่ของครูที่โรงเรียน

ป๋าส่งให้ครูเข้าเรียนชั้น ป.1 ตั้งแต่ 5 ขวบ ภาษาเยอรมัน, ฝรั่งเศส และ อังกฤษได้เรียนที่โรงเรียนกับครูเจ้าของภาษาโดยตรง

พ่อแม่หลายคนอาจจะกังวลว่ากว่าลูกจะเข้าเรียนและได้เรียนภาษาอื่นๆ จะไม่ช้าไปหรอ ตอบเลยว่าไม่ช้าครับอย่าลืมว่าเด็กคือตัวก๊อบปี้ที่ดีที่สุด จะเรียนรู้ได้ไวมาก เพราะฉะนั้นควรป้อนสิ่งที่ถูกต้องให้เค้าตั้งแต่แรก

อิงจากประสบการณ์ที่ครูเคยสอนน้องลูกครึ่งไทย-เยอรมัน พบว่าคุณแม่ของน้องพยายามสอนภาษาเยอรมันให้น้องควบคู่ไปด้วยปรากฏว่าน้อง ออกเสียงผิดเยอะมาก งานนี้ครูก็ท้อ น้องก็ยิ่งเบื่อคือการเรียนไม่คืบหน้าเท่าที่ควร ต้องคอยแก้การออกเสียงตลอดและแก้ยากมากเพราะน้องติดพูดผิดไปแล้ว

3. ส่งเสริมให้ลูกมีกิจกรรมนอกบ้านโดยเฉพาะถ้าเป็นเด็กไทยติดตามพ่อหรือแม่ไปใช้ชีวิตที่ยุโรป

ข้อนี้ถือว่าสำคัญมากเพราะการได้ออกไปทำกิจกรรมกับเพื่อนๆ จะยิ่งทำให้พัฒนาการทางภาษาไปเร็ว

ครูโดนให้เข้าชมรมฟุตบอลตั้งแต่เด็กจนถึงอายุ 16 ปี ป๋าคือสปอนเซอร์หลักเลย ตั้งแต่จัดแจงหารถไปส่ง บางครั้งก็ทำเสื้อทีมให้พร้อมกับเป็นกองเชียร์ข้างสนาม

เพราะนอกจากภาษาที่ได้ใช้กับเพื่อนแล้ว ทำให้ครูมีสังคมและเป็นที่ยอมรับมากขึ้น และได้เรียนภาษาอื่นๆ จากเพื่อนมากมายนอกจากเพื่อนชาวสวิส จะมีเพื่อนชาวอิตาลี สเปน ซึ่งครูเป็นเอเชียคนเดียว

มาถึงตรงนี้พบว่าสำเนียงภาษาสวิส-เยอรมัน และภาษาเยอรมันของครูถือว่าสมบูรณ์ 100% ส่วนภาษาไทยยอมรับเลยว่าไม่สมบูรณ์ ถ้าใครได้ยินจะรู้ว่าสำเนียงยังแปล่งๆ ด้วยสภาวะแวดล้อมประกอบกับใช้กับแม่แค่คนเดียว แล้วครูเป็นเด็กผู้ชาย กิจกรรมที่ให้ทำร่วมกับแม่ ก็ไม่ได้มากมายเท่าเด็กผู้หญิง แต่ก็ถือว่าพอที่จะนำมาใช้เอาตัวรอดที่เมืองไทยได้อยู่นะ

 

มาถึงข้อควรระวังบ้างครับ


1. พ่อและแม่ต้องใจแข็งและเด็ดเดี่ยว

ต้องบอกเลยว่าเด็กทุกคนชอบใช้ชีวิตง่ายๆสบายเมื่อถึงช่วงเวลาหนึ่งเด็กจะมีอาการแข็งขืน ซึ่งครูก็เป็นพออายุ 8 ขวบ รู้สึกว่าไม่อยากใช้ภาษาไทยแล้ว

เพราะไม่เห็นประโยชน์ ใช้กับแม่แค่คนเดียว เริ่มก่อกบฏแต่ไม่สำเร็จแม่ไม่ยอม เป็นคนไทยจะไม่พูดภาษาไทยได้ไง แล้วทุกๆปีจะโดนให้กลับไทยคนเดียว จะไปใช้ภาษาอะไรพูดกับญาติ มาเห็นประโยชน์ตอนกลับไทยนี่แหละครับ ถ้าแม่ไม่บังคับนี่ไม่รู้จะยังไงเหมือนกัน

2. พ่อและแม่ต้องใจเย็น

เพราะว่าเด็ก 3 ภาษาขึ้นไปพัฒนาการเค้าจะช้ากว่าเด็ก 2 ภาษา เพราะฉะนั้นอย่าไปเร่งเค้า หากคุณแม่คุยกับเค้าด้วยภาษาไทย

แล้วเค้าตอบด้วยภาษาสวิส-เยอรมัน หรือภาษาเยอรมันกลับมา ไม่ได้หมายความว่าเค้าไม่เข้าใจนะครับ เค้าเข้าใจเพียงแต่ว่าลอจิคความคิด(ความคิดเชิงตรรกะ) เค้าจะประมวลผลออกมาให้เค้าตอบภาษาที่เค้าถนัดที่สุดก่อน หรือเด็กบางคนมิกซ์กันมาเลย 3-4 ภาษา เค้ายังแยกภาษาไม่ออก เมื่อไหร่ที่เค้าคลิกกับทุกภาษาแล้ว เค้าจะตอบได้ตามภาษาที่คุณแม่ถามไปแค่อดทนรอแค่นั้นเอง

คุณพ่อคุณแม่ลองเอาไปปรับใช้กันดูนะครับ

Comments


bottom of page